วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562

แบนถุงพลาสติก ได้ผลจริงหรือ ?


2 ปีที่แล้ว เคนยาเริ่มห้ามไม่ให้มีการใช้ถุงพลาสติก มาตรการลดการใช้ถุงพลาสติกนี้ได้ผลแค่ไหนกัน

ก่อนหน้านี้ มีการใช้ถุงพลาสติกหลายสิบล้านถุงในซูเปอร์มาร์เก็ตของเคนยาในแต่ละปี เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไปอุดท่อระบายน้ำและส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน

การศึกษาของหน่วยจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Management Agency หรือ Nema) ของเคนยา ระบุว่า มีการพบถุงพลาสติกในท้องของปศุสัตว์บริเวณใกล้เขตเมืองมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสัตว์ทั้งหมด

หลังจากสัญญาว่าจะเริ่มแก้ไขปัญหานี้มาหลายปี รัฐบาลก็สั่งให้การผลิต การขาย และแจกจ่ายถุงพลาสติก ผิดกฎหมายในที่สุด

รัฐบาลระบุว่า ตั้งแต่เริ่มสั่งห้าม มีประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ที่หยุดใช้ถุงพลาสติกแล้ว

แม้นี่จะฟังดูเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ทางเลือกอื่นที่คนหันไปใช้ก็เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ผู้ผลิต นำเข้า และขายถุงพลาสติก อาจถูกปรับถึง 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.2 ล้านบาท และจำคุกถึง 4 ปี ผู้ใช้ถุงพลาสติกอาจถูกปรับมากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 15,000 บาท หรือจำคุกถึง 1 ปี

ถึงตอนนี้ มีการสั่งปรับระหว่าง 500-1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,500-45,000 บาท) กับคนราว 300 คนแล้ว เคริอาโค โทบิโค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่า บางคนก็ถูกจำคุก

ปีที่แล้ว คนที่สารภาพผิดในชั้นศาลในเมืองมอมบาซา 18 คน ถูกปรับ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9,000 บาท หรือถูกจำคุก 8 เดือนโทษฐานใช้ถุงพลาสติก

บางกรณี คนที่กระทำความผิดเป็นครั้งแรกก็ได้รับการผ่อนผันไป

มาโม มาโม รักษาการผู้อำนวยการหน่วยจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ บอกว่าในแต่ละกรณีจะปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของผู้พิพากษาในการตัดสินโทษ

Mamo บอกว่า โทษที่หนักที่สุดตอนนี้เป็นการสั่งจำคุกผู้ผลิตเป็นเวลาหนึ่งปี โดยไม่เปิดทางให้จ่ายค่าปรับแทน เขาบอกว่าการห้ามใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงแล้ว เห็นได้จากโรงฆ่าสัตว์ที่บอกว่าพบถุงพลาสติกในท้องสัตว์น้อยลง

แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วถือว่าการห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นมาตรการที่ได้ผล แต่ถุงพลาสติกบางประเภทก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด

ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าบางร้านเลิกใช้ถุงพลาสติกแล้ว ร้านค้ารายย่อย ๆ ใช้ถุงที่ทำจากพลาสติกใส มีสัญญาณให้เห็นว่าถุงเหล่านี้ถูกลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูกันดาและโซมาเลีย

การลักลอบลักษณะนี้เป็นปัญหาสำหรับรวันดา ซึ่งเริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2008 เช่นกัน รวมถึงโมร็อกโก ซึ่งเริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2007 แทนซาเนีย ซึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตถุงพลาสติกเพื่อการลักลอบ ก็เริ่มห้ามใช้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.


หลังจากเริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติก คนก็หันไปใช้ถุงพลาสติกที่ทำจากโพลีโพรพีลีน ซึ่งเป็นประเภทพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลง่ายกว่าโพลิธีน แทน

อย่างไรก็ตาม หน่วยจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพบว่า ผู้ผลิตเริ่มใช้ โพลิธีน เป็นส่วนผสมมากขึ้น ทำให้พลาสติกไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

เมื่อ มี.ค. รัฐบาลสั่งห้ามใช้ถุงที่ทำจากโพลีโพรพีลีน จนกว่าจะมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ค้าก็เรียกร้องจนรัฐบาลต้องถอย และถุงที่ทำจากโพลีโพรพีลีนยังสามารถใช้ได้อยู่

สมาคมผู้ผลิตเคนยา (Kenya Association of Manufacturers หรือ Kam) บอกว่า การห้ามใช้ถุงพลาสติกส่งผลทำให้มีคนตกงาน การลงทุน และเศรษฐกิจเสียหาย เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายเจ้าที่ย้ายกิจการไปประเทศอื่น

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบางรายก็หันไปผลิตถุงที่ทำจากวัสดุชนิดอื่นแทน แต่เกรซ บอโก เจ้าหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ของ Kam บอกว่า ความสามารถในการผลิตยังมีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากไม่สามารถหาวัตถุดิบในประเทศได้เพียงพอ

ที่มา BBC

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัยรุ่นอังกฤษตาบอด หลังกินแต่มันฝรั่งทอดเป็นอาหารหลายปี

กรณีข้างต้นเป็นรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine โดยจักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลรักษาโรคตาเมืองบริสตอลระบุว่า วัยร...